ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

ประวัติพันธุ์

ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นทุ่งใหญ่ของภาคอีสานมีพื้นที่อยู่ในเขต 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ จํานวนพื้นที่ทั้งสิ้น 2,107,690 ไร่ เดิมมีชื่อว่า ทุ่งหมาหลง หรือ ทุ่งป่าหลาน ที่ได้ชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” นั้น มีตํานานกล่าวว่ามีพ่อค้าชาวกุลาเดินเร่ขายสินค้าผ่านเข้ามาในทุ่งกว้างแห่งนี้จนเมื่อยล้ายังไม่พ้นทุ่งกว้างแห่งนี้สักทีทุ่งนี้จึงมีชื่อว่า" ทุ่งกุลาร้องไห้ ” การเพาะปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ คาดว่าเริ่มมีการนําเข้ามาปลูกหลังจากทางราชการมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิและรับรองพันธุ์ในปี 2502 ในชื่อพันธุ์ “ขาวดอกมะลิ 105” ได้เริ่มดําเนินการอย่างกว้างขวางในปี 2524 โดยโครงการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเน้นการเปลี่ยนพันธุ์ปลูกจากข้าวเหนียวเป็นพันธุ์ข้าวเจ้า จึงทําให้ข้าวหอมมะลิมีการปลูกอย่างแพร่หลาย มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนพันธุ์ปลูกทุก 3 ปี เพื่อให้พันธุ์ข้าวมีความบริสุทธิ์

สภาพการปลูกข้าวหอมมะลิที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ทําให้ปลูกได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เก็บเกี่ยวในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวเย็นและปราศจากฝน ประกอบกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เชื่อว่าพื้นที่ที่มีน้ำ จะต้องระบายน้ำออกก่อนเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 10 วัน จะทําให้ผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ มีคุณภาพดี ข้าวสารมีเมล็ดใส และแกร่ง ข้าวสุกมีความหอมและนุ่ม รวมทั้งขบวนการแปรรูปที่ได้มาตรฐานจึงทําให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้มีคุณภาพที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากข้าวหอมมะลิที่ผลิตจากแหล่งอื่นๆ จนเป็นที่ยอมรับของผู้ค้าและผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
 

ลักษณะประจำพันธุ์

ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ( Thung Kula Rong-Hai Thai Hom Mali Rice : TKR ) หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ซึ่งปลูกใน พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในฤดูนาปี และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ข้าวเปลือกมีสีฟาง เมล็ดข้าว ยาว เรียว และเมล็ดไม่มีหางข้าว เมล็ดข้าวที่ผ่านการสีแล้ว จะมีความเลื่อมมัน จมูกข้าวเล็ก เมื่อหุงแล้วจะมีกลิ่นหอมและนุ่ม มีความยาวมากกว่า 7.0 มิลลิเมตร สัดส่วนความยาวต่อความกว้าง มากกว่า 3.2 มีท้องไข่ น้อยกว่าร้อยละ 6

 

ความสัมพันธ์กับแหล่งภูมิศาสตร์

พื้นที่เพาะปลูกอยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ รายละเอียดตามแผนที่ ประกอบด้วย

1.จังหวัดร้อยเอ็ดประกอบด้วย ตําบลที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในอําเภอเกษตรวิสัย อําเภอสุวรรณภูมิ อําเภอ ประทุมรัตต์ อําเภอโพนทราย และกิ่งอําเภอหนองฮี จํานวน 986,807 ไร่

2.จังหวัดสุรินทร์ประกอบด้วย ตําบลที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในอําเภอท่าตูม และอําเภอชุมพลบุรี จํานวน 575,993 ไร่

3.จังหวัดศรีสะเกษประกอบด้วย ตําบลที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ในอําเภอราษีไศล และกิ่งอําเภอศิลาลาด จํานวน 287,000 ไร่

4.จังหวัดมหาสารคามประกอบด้วย ตําบลที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในอําเภอพยัคฆภูมิพิสัย จํานวน 193,890 ไร่

5.จังหวัดยโสธรประกอบด้วย ตําบลที่อยู่ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในอําเภอมหาชนะชัย และอําเภอค้อวัง จํานวน 64,000 ไร่

ได้รับการรับรอง ข้าวสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar